ได้ข้อสรุป! โครงการศึกษาเพื่อพัฒนาพื้นที่แหลมบาลีฮาย ปั้นเป็นศูนย์กลางการเดินทางที่เชื่อมโยงการท่องเที่ยว

ที่ศูนย์ประชุมมหาไถ่ พัทยา จ.ชลบุรี ( 8 ก.ย.2563) เมืองพัทยา จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 4 โครงการศึกษาเพื่อพัฒนาพื้นที่แหลมบาลีฮาย โดย นายรณกิจ เอกะสิงห์ รองนายกเมืองพัทยา ได้เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุมดังกล่าว ท่ามกลางผู้ร่วมประชุม ซึ่งเป็นตัวแทนจากภาครัฐ เอกชน ชุมชน ประชาชนชาวเมืองพัทยา และบุคคลทั่วไปผู้ที่สนใจ

นายรณกิจ เอกะสิงห์ รองนายกเมืองพัทยา กล่าวว่าการบริหารเมืองพัทยาที่มีนายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา เป็นผู้นำนั้น มุ่งหวังที่จะให้เกิดการพัฒนาท้องถิ่นและสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้ประชาชนด้วยการบริการจัดการอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอย่างเป็นมาตรฐาน เพื่อสอดรับกับนโยบายการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจ หรือ โครงการ EEC ของภาครัฐ ที่มุ่งเน้นการส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ

โดยโครงการศึกษาเพื่อพัฒนาพื้นที่แหลมบาลีฮาย เป็นหนึ่งในโครงการที่เห็นชอบให้ดำเนินการ เมืองพัทยาจึงได้ว่าจ้าง บริษัท พิสุทธิ์ เทคโนโลยี จำกัด ดำเนินการศึกษาโครงการและจัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นในแต่ละครั้งขึ้น ซึ่งครั้งนี้เป็นการสรุปผล หลังจากได้ศึกษาความเหมาะสมของโครงการ ทั้งด้านกายภาพ เศรษฐศาสตร์ สังคม สิ่งแวดล้อม กฎหมาย และอื่น ๆ ตลอดจนศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นของโครงการ และความเป้นไปได้ในรูปแบบการร่วมลงทุนกับเอกชนหรือการให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน

นายทรงกริช สรรพกิจ กรรมการบริหาร บริษัท พิสุทธิ์ เทคโนโลยี จำกัด ในฐานะผู้จัดการโครงการศึกษาเพื่อพัฒนาพื้นที่แหลมบาลีฮาย ให้ข้อมูลว่า ผลการคัดเลือกผังทางเลือกที่เหมาะสมคือ ผังทางเลือกที่ 1 New Central Business District:New CBD พื้นที่ศูนย์กลางเศรษฐกิจแห่งใหม่ของเมืองพัทยา โดยมีแนวคิดในการพัฒนาแหลมบาลีฮายเป็นศูนย์กลางการเดินทางที่เชื่อมโยงการท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ โดยมีสถานีรถไฟฟ้า Tram ท่าเทียบเรือท่องเที่ยว และท่าเทียบเรือสำราญเป็นศูนย์กลางรวบรวมนักท่องเที่ยวเพื่อกระจายการเดินทางไปยังพื้นที่อื่น ๆ และรองรับปริมาณนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นในอนาคต เป็นย่านพาณิชยกรรมและแหล่งท่องเที่ยวที่ทันสมัยแห่งใหม่ โดยมีห้างสรรพสินค้าเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟเชื่อมโยงไปยังโครงการวอล์กกิ้งสตรีท พัทยาใต้ ที่จะพัฒนาให้ทันสมัยและขยายพื้นทีให้ใหญ่ขึ้น โดยการพัฒนาย่านพาณิชยกรรมพร้อมพื้นที่นันทนาการแห่งใหม่เลียบชายฝั่งทะเลขนานกับวอล์กกิ้งสตรีทเดิม

แบ่งรายละเอียดการพัฒนาออกเป็น 3 ส่วน คือ บริเวณที่ 1 ท่าเทียบเรือสำราญ ออกแบบให้อยู่บริเวณปลายแหลมบาลีฮาย ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือจากชายฝั่งประมาณ 600 ม. ซึ่งเป็นบริเวณที่มีน้ำลึก 11 ม. สามารถรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ได้ ท่าเทียบเรือจะมีขนาดความกว้าง 40 ม. ยาว 250 ม. สะพานเชื่อมท่าเทียบเรือจะจัดให้มีท่าเทียบเรือขนาดเล็กรองรับการใช้งาน มีอาคารอำนวยการตั้งอยู่บริเวณชายฝั่ง เป็นอาคาร 2 ชั้น พื้นที่ใช้สอยประมาณ 12,000 ตร.ม. จัดสรรให้เป็นสัดส่วนต่าง ๆ ทั้งการตรวจคนเข้าเมือง ความปลอดภัย ศุลกากร โถงรองรับผู้โดยสาร พื้นที่จัดการตั๋ว กระเป๋าและสัมภาระ สำนักงานบริหาร และแนวเขื่อนกั้นคลื่นยาว 1 กม.

บริเวณที่ 2 พื้นที่นันทนาการริมน้ำลานบาลีฮาย แบ่งพื้นที่พัฒนาออกเป็น 2 ส่วน คือ บริเวณศูนย์เปลี่ยนถ่ายการเดินทางและอาคารห้างสรรพสินค้า พื้นที่ใช้สอยรวม 20,500 ตร.ม. ศูนย์เปลี่ยนถ่ายการเดินทางเป็นอาคารสูง 3 ชั้น มีพื้นที่ 12,900 ตร.ม. เชื่อมกับอาคารห้างสรรพสินค้าสูง 3 ชั้น มีพื้นที่ 7,600 ตร.ม. ภายในมีร้านค้าปลีกชั้นนำ แฟชั่น อาหารและเครื่องดื่ม มีทางเดิน Skywalk เชื่อมไปยังท่าเทียบเรือสำราญ มีทางเดินเชื่อต่อไปยังลานจอดรถและท่าเทียบเรือท่องเที่ยว และบริเวณพื้นที่นันทนาการริมน้ำลานบาลีฮาย จะมีการปรับปรุงภูมิทัศน์และเพิ่มพื้นที่จากแนวชายฝั่งเดิม 50 ม. เป็นลานกิจกรรมอเนกประสงค์สำหรับใช้จัดกิจกรรมต่าง ๆ เช่น คอนเสิร์ต และการแข่งขันกีฬาทางน้ำ พื้นที่นันทนาการริมน้ำ ปรับปรุงขยายผิวจราจรจาก 2 เลน เป็น 4 เลน และขยายพื้นที่จากแนวชายฝั่งเดิม 35 ม. และปรับภูมิทัศน์ให้เข้ากับลานบาลีฮาย

และบริเวณที่ 3 วอล์กกิ้งสตรีท พัทยา โดยแบ่งการพัฒนาออกเป็น 2 ส่วน คือ พื้นที่ถนนวอล์กกิ้งสตรีทเดิม มีโครงการนำระบบสายไฟฟ้าลงดินขอการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์ ทั้งในส่วนของผิวทาง ซุ้มประตู จุดหมายตา เพื่อให้สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้ทั้งกลางวันและกลางคืน และพื้นที่ในทะเล โดยจะมีการรื้อถอนอาคารที่รุกล้ำในระยะ 40 ม.จากแนวถนน โดยที่สถานประกอบการยังคงดำเนินการได้ ส่วนพื้นที่ระยะ 40-100 ม. จากแนวถนน จะทำให้เป็นพื้นที่พาณิชยกรรมแห่งใหม่ ประเภทร้านค้า ร้านอาหาร จุดชมวิว พื้นที่นันทนาการเลียบชายทะเล และเปิดทางเชื่อมเป็นพื้นที่เชื่อมโยงพื้นที่พาณิชยกรรมทั้งสองฝั่ง

หลังจากนี้จะได้นำผลสรุปโครงการศึกษาเพื่อพัฒนาพื้นที่แหลมบาลีฮาย ส่งให้เมืองพัทยาพิจารณาก่อนจัดทำร่างประกาศลงทุนร่วมระหว่างรัฐและเอกชน เพื่อนำเสนอเข้าคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง หากมีความเป็นไปได้ก็จะได้เปิดให้ภาคเอกชนที่สนใจมาดำเนินการตามลำดับ

Source: https://athipburapa.com/archives/9385